นำพันธุ์พืชที่มีอยู่ ทั้งพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก รวมถึงสมุนไพร ซึ่งเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นตามที่อยู่ของลูกแม่โจ้ รวมถึงพันธุ์ดีที่ลูกแม่โจ้มีอยู่ นำมารวมไว้ ณ แม่โจ้ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
หลักการและเหตุผล
ในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันผู้สร้างคนเกษตร คนที่อดทน ใฝ่รู้ สู้งาน ศิษย์ของแม่โจ้ ได้ออกไปสร้างคน สร้างงาน สร้างความรู้ในการพัฒนาชาติบ้านเมือง เป็นจำนวนมาก อีกทั้งลูกแม่โจ้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาจากทั่วทุกภูมิภาค ทั่วทุกจังหวัดของผืนแผ่นดินไทย ในวาระอันเป็นมงคล ลูกแม่โจ้จะได้เดินทางกลับมาสู่สถานที่อันเป็นที่รัก สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกแม่โจ้ทุกคนมีเรื่องราวที่ควรค่าแก่การจดจำ ลูกแม่โจ้ทุกรุ่นจะกลับบ้านนำเรื่องราวของชีวิตกลับมาบอกกับ “แม่โจ้” จะกลับมาคารวะครู อาจารย์ ได้พบพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้องๆ และชาวลูกแม่โจ้ทุกคน การมาพบกันครั้งนี้ นอกจากจะมีความรัก ความคิดถึง ความปรารถนาดีมามอบให้แก่กันแล้ว ลูกแม่โจ้จะได้นำพันธุ์พืชที่มีอยู่ ทั้งพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก รวมถึงสมุนไพร ซึ่งเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นตามที่อยู่ของลูกแม่โจ้ รวมถึงพันธุ์ดีที่ลูกแม่โจ้มีอยู่ นำมารวมไว้ ณ แม่โจ้ เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของแผ่นดินไทย และต่อยอดสู่การศึกษา การวิจัยต่อไปในอนาคต กิจกรรมครั้งนี้เป็นการหลอมรวมความศรัทธาของลูกแม่โจ้ ที่จะจงรักไว้ในแผ่นดิน ซึ่งจะยั่งยืนและคงอยู่ตลอดไป
วัตถุประสงค์
- อนุรักษ์พันธุ์พืชของประเทศไทย เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์กับการเรียน การสอน การวิจัย
- สร้างความสามัคคี การมีส่วนร่วมของศิษย์เก่าแม่โจ้ในโอกาสครบรอบ 80 ปีแม่โจ้
หน่วยงานรับผิดชอบ
- สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้
- คณะผลิตกรรมการเกษตร โดยสาขาพืชผัก
- สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร โดยฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์
- โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ ภาคเหนือ และอพ.สธ แม่โจ้)
การดำเนินงาน
1. ประชาสัมพันธ์ให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน หรือประชาชนทั่วไปให้นำพันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั้งพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก รวมถึงสมุนไพร มารวมไว้ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช และต่อยอดการศึกษาการวิจัยต่อไป
2. ดูแลรักษา บริหารเชื้อพันธุกรรมที่ได้รับ ในช่วงวันที่ 4 – 10 ธันวาคม 2556 ก่อนที่จะนำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ โทร.0-5387-3942